ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ภาพรวม

       ไทยและจีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ และมีการขยายความร่วมมือเชิงลึกในทุกมิติ โดยในปี 2563 จะครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน

       การเสด็จฯ เยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างและ กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของสองประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้เสด็จฯ เยือนจีนมากกว่า 40 ครั้งในทุกมณฑล และล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (1 ตุลาคม 2562) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ฝ่ายจีนมอบให้ชาวต่างประเทศที่สร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือกับจีน

       ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่งและสถานกงสุลใหญ่ 9 แห่ง ได้แก่ นครกว่างโจว นครคุนหมิง นครเซี่ยงไฮ้ นครเฉิงตู นครหนานหนิง นครซีอาน เมืองเซี่ยเหมิน เมืองฮ่องกง และ เมืองชิงต่าว  ในส่วนของจีน มีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และสถานกงสุลใหญ่ในไทย 3 แห่ง ได้แก่ (1) สถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ (2) สถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดสงขลา และ (3) สถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานการกงสุล ณ จังหวัดภูเก็ต

ด้านการเมือง

       ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดในรอบด้าน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการการเคารพซึ่งกันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและการไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ไทยกับจีนได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) เมื่อเดือนเมษายน 2555 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น รวมทั้งไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกันทางประวัติศาสตร์ พรมแดน หรือน่านน้ำระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมือ     ที่ใกล้ชิดในกรอบอาเซียน – จีน กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และจีนเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง  (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

       นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลในระดับมณฑลของจีน โดยเฉพาะมณฑลที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับไทย โดยไทยและจีนมีการจัดตั้งคณะทำงานในระดับส่วนกลางของไทยกับมณฑลของจีน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานไทย – ยูนนาน คณะทำงานไทย – กวางตุ้ง และคณะทำงานไทย – กว่างซี

ด้านเศรษฐกิจ

       ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ไทย – จีน โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความเข้มข้นขึ้นจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีนเมื่อเดือนมกราคม 2553 และการยกระดับความตกลงดังกล่าวในปี 2562 ตลอดจนการเปิดใช้เส้นทาง R3A เส้นทาง R8 R9 และ R12 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับจีนตอนใต้ผ่านลาวและเวียดนาม การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-ลาว-จีน และการมีความร่วมมือ 3 ฝ่ายไทย-จีน-ญี่ปุ่นในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) รวมทั้งการมีกลไกคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน ระดับ
รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง และความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (คกร.) ไทย-จีน ระดับรัฐมนตรี ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ

การค้าของไทยกับจีน

       ปี 2562 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 ของไทย และจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย) ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 13 (อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 13 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 17 ของจีน เมื่อปี 2562 มูลค่าการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 79,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 0.90 ในจำนวนดังกล่าว ไทยส่งออกไปจีนมีมูลค่า 29,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.78 จากปี 2561 ส่วนไทยนำเข้าจากจีนมีมูลค่า 50,327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 จากปี 2561 จีนได้ดุลการค้า 21,155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.01 จากปี 2561

สินค้าสำคัญที่จีนนำเข้าจากไทย

       ฮาร์ดไดรฟ์ ยางพารา แผงวงจรรวม ไม้ ชิ้นส่วนจอ LCD ทุเรียนสด มันสำปะหลังแห้งและแป้งมันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

สินค้าสำคัญที่จีนส่งออกมาไทย

       โทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เหล็กกล้า คาร์บอนแบล็ค อุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า จอ LCD คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ เห็ดหอมแห้ง สารกำจัดวัชพืช

การลงทุนของไทยกับจีน

       จีนมีมูลค่าการลงทุนสะสมในไทยจนถึงปลายปี 2561 ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนสนใจลงทุนในภาคธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภาคอุตสาหกรรมใหม่ โลจิสติกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนมูลค่าการลงทุนสะสมของไทยในจีนจนถึงปลายปี 2561 มีประมาณ 4,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมหลักที่ไทยลงทุนในจีนคือ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ธัญพืช ฟาร์มสัตว์ มอเตอร์ไซค์ โรงแรม ร้านอาหาร การนวดแผนไทย

       ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2562 จีนมีมูลค่าการลงทุนสะสมในไทย 6,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการลงทุนสะสมของไทยในจีนอยู่ที่ 4,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การท่องเที่ยว

       รัฐบาลไทยและจีนได้ทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการตลาดและการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศโดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเท่านั้น ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกร่วมกับสิงคโปร์และมาเลเซียที่ได้รับอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

       จีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย 10.98 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปี 2561) ทั้งนี้ จีนได้จัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (China National Tourism Office: CNTO) ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2560 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีน

ด้านวัฒนธรรม

       ไทยและจีนมีสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายระหว่างกันมาช้านานกว่า 700 ปี ส่งผลให้วัฒนธรรมและประเพณีของจีนผสมผสานกับของไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้คนไทยและคนจีนมีความใกล้ชิดคุ้นเคยกันดั่งเครือญาติ จนมีคำกล่าวว่า จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน

       ในระดับรัฐบาล รัฐบาลจีนได้เปิดศูนย์วัฒนธรรมจีนที่กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งแรกของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในจีนได้จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในเขตอาณาเป็นประจำทุกปี โดยร่วมกับส่วนราชการไทยและภาคเอกชนไทยในจีน

       นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังร่วมกันจัดงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน โดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรเลงเครื่องดนตรีจีน กู่เจิงด้วยพระองค์เองทุกครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครหางโจว เมื่อเดือนธันวาคม 2556 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (1 ตุลาคม 2562) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ฝ่ายจีนมอบให้ชาวต่างประเทศที่สร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมืออันดีกับจีน

ที่มา :
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง (Royal Thai Embassy, Beijing)
https://thaiembbeij.org/th/republic-of-china/thai-relations-china/